การประเมินความเป็นหลักสูตร

กระบวนทัศน์การเรียนรู้

ในบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนา กระบวนทัศน์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU Learning Paradigm) เพื่อยกระดับกระบวนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 องค์ประกอบหลักรวมถึงการบูรณาการข้ามศาสตร์ การเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะ และการประเมินผลเพื่อการเรียนรู้ เพื่อผลิตบัณฑิตที่ปรับตัวได้และพร้อมเผชิญความท้าทายทางวิชาชีพ

การประเมินหลักสูตรภายใต้กระบวนทัศน์นี้ช่วยตรวจสอบความสอดคล้องของกลยุทธ์การศึกษากับเป้าหมายของสถาบัน และชี้จุดเด่น-จุดที่ต้องปรับปรุงอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยกระดับคุณภาพการศึกษา

บริบทและความสำคัญ

โลกในศตวรรษที่ 21 กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความต้องการของตลาดแรงงานและทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการศึกษาให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมรับมือกับความท้าทายเหล่านี้

มหาวิทยาลัยขอนแก่นตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษา จึงได้พัฒนากรอบ KKU Learning Paradigm ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านจากการสอนที่อาจารย์เป็นศูนย์กลาง (Teaching Paradigm) สู่การเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learning Paradigm) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับอนาคต

วัตถุประสงค์ของการประเมิน

การประเมินหลักสูตรตามกรอบ KKU Learning Paradigm มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ดังนี้

  1. เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของหลักสูตรกับหลักการของ KKU Learning Paradigm โดยพิจารณาการบูรณาการองค์ประกอบทั้ง 5 ประการในการออกแบบและดำเนินการหลักสูตร รวมถึงการประเมินประสิทธิผลของการบูรณาการดังกล่าว
  2. เพื่อประเมินประสิทธิผลของกระบวนการจัดการเรียนการสอนในการพัฒนาผู้เรียน ทั้งในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรู้ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน
  3. เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต และการเตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่การทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

องค์ประกอบของ KKU Learning Paradigm

การปรับเปลี่ยนพันธกิจและเป้าหมาย

Mission and Purpose

จากการถ่ายทอดความรู้สู่การส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเอง

เน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความสามารถในการสร้างความรู้

มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้มากกว่าการครอบคลุมเนื้อหา

การปรับโครงสร้างการเรียนรู้

Learning Structure

จากการเน้นการสะสมหน่วยกิตสู่การพัฒนาสมรรถนะ

ออกแบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของผู้เรียน

เชื่อมโยงการเรียนรู้กับการปฏิบัติและแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง

การบูรณาการข้ามศาสตร์

Cross-disciplinary Integration

ส่งเสริมการเชื่อมโยงความรู้จากหลากหลายสาขาสู่หลักสูตรการเรียนการสอน

พัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยใช้ความรู้จากหลากหลายสาขา

สร้างมุมมองแบบองค์รวมในการเรียนรู้และเชื่อมโยงสู่การประยุกต์ในสภาพจริง

การปรับบทบาทอาจารย์

Faculty Role

จากผู้สอนสู่ผู้ออกแบบและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้

พัฒนาทักษะการโค้ช การกำกับติดตามและการให้คำปรึกษา

สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อต่อ Active Learning

การประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

Assessment for Learning

เน้นการประเมินการเรียนรู้เพื่อพัฒนามากกว่าการตัดสิน

ให้ข้อมูล Feedback แก่นักศึกษาที่มีประสิทธิภาพและนำไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนรู้ได้

ส่งเสริมการประเมินตนเองและการกำกับการเรียนรู้โดยนักศึกษา

เกณฑ์การประเมินหลักสูตร

การประเมินหลักสูตรตามกรอบ KKU Learning Paradigm แบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การออกแบบหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน และผลลัพธ์ผู้เรียน โดยแต่ละองค์ประกอบมีน้ำหนักคะแนนและเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน ดังนี้

การออกแบบหลักสูตร (40 คะแนน)

การบูรณาการองค์ประกอบของ KKU Learning Paradigm (15 คะแนน)

คำถามการประเมินและเกณฑ์การให้คะแนน:

  1. หลักสูตรมีการระบุวิธีการบูรณาการองค์ประกอบทั้ง 5 ประการอย่างชัดเจนหรือไม่? (5 คะแนน)

ระดับ 5: มีการระบุวิธีการบูรณาการครบทุกองค์ประกอบอย่างชัดเจน มีการเชื่อมโยงที่เป็นระบบ และมีกลไกการประเมินประสิทธิผล

ระดับ 4: มีการระบุวิธีการบูรณาการครบทุกองค์ประกอบ และมีการเชื่อมโยงที่ชัดเจน

ระดับ 3: มีการระบุวิธีการบูรณาการครบทุกองค์ประกอบ

ระดับ 2: มีการระบุวิธีการบูรณาการบางองค์ประกอบ

ระดับ 1: มีการระบุวิธีการบูรณาการไม่ชัดเจนหรือไม่ครบถ้วน

  1. กิจกรรมการเรียนการสอนสะท้อนการบูรณาการองค์ประกอบทั้ง 5 ประการมากน้อยเพียงใด? (5 คะแนน)

ระดับ 5: กิจกรรมการเรียนการสอนสะท้อนการบูรณาการทุกองค์ประกอบอย่างชัดเจน มีความหลากหลาย และมีการประเมินประสิทธิผล

ระดับ 4: กิจกรรมการเรียนการสอนสะท้อนการบูรณาการทุกองค์ประกอบ และมีความหลากหลาย

ระดับ 3: กิจกรรมการเรียนการสอนสะท้อนการบูรณาการทุกองค์ประกอบ

ระดับ 2: กิจกรรมการเรียนการสอนสะท้อนการบูรณาการบางองค์ประกอบ

ระดับ 1: กิจกรรมการเรียนการสอนสะท้อนการบูรณาการไม่ชัดเจน

  1. มีกระบวนการทบทวนและประเมินประสิทธิผลของการบูรณาการองค์ประกอบอย่างเป็นระบบหรือไม่? (5 คะแนน)

ระดับ 5: มีกระบวนการทบทวนและประเมินที่เป็นระบบ มีการใช้ข้อมูลในการปรับปรุง และมีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี

ระดับ 4: มีกระบวนการทบทวนและประเมินที่เป็นระบบ และมีการใช้ข้อมูลในการปรับปรุง

ระดับ 3: มีกระบวนการทบทวนและประเมินที่เป็นระบบ

ระดับ 2: มีกระบวนการทบทวนและประเมินบางส่วน

ระดับ 1: ไม่มีกระบวนการทบทวนและประเมินที่ชัดเจน

การออกแบบตามแนวทางฐานสมรรถนะ (15 คะแนน)

คำถามการประเมินและเกณฑ์การให้คะแนน:

  1. สมรรถนะที่กำหนดในหลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการในศตวรรษที่ 21 มากน้อยเพียงใด? (5 คะแนน)

ระดับ 5: สมรรถนะมีความทันสมัย ครอบคลุมทั้งทักษะเฉพาะทางและทักษะทั่วไป มีการวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน และมีการทบทวนปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ระดับ 4: สมรรถนะมีความทันสมัย ครอบคลุมทักษะที่จำเป็น และมีการวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ระดับ 3: สมรรถนะครอบคลุมทักษะที่จำเป็นตามมาตรฐานวิชาชีพและความต้องการพื้นฐาน

ระดับ 2: สมรรถนะครอบคลุมเฉพาะทักษะพื้นฐานตามมาตรฐานวิชาชีพ

ระดับ 1: สมรรถนะไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน

  1. มีการเชื่อมโยงระหว่างสมรรถนะและผลลัพธ์การเรียนรู้รายวิชาอย่างเป็นระบบหรือไม่? (5 คะแนน)

ระดับ 5: มีการจัดทำแผนที่การกระจายความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีการกำหนดระดับความก้าวหน้าของสมรรถนะ และมีการประเมินความสำเร็จอย่างเป็นระบบ

ระดับ 4: มีการจัดทำแผนที่การกระจายความรับผิดชอบที่ชัดเจน และมีการกำหนดระดับความก้าวหน้าของสมรรถนะ

ระดับ 3: มีการจัดทำแผนที่การกระจายความรับผิดชอบครบทุกรายวิชา

ระดับ 2: มีการจัดทำแผนที่การกระจายความรับผิดชอบเพียงบางส่วน

ระดับ 1: ไม่มีการเชื่อมโยงที่ชัดเจน

  1. เกณฑ์การประเมินสมรรถนะมีความชัดเจนและวัดผลได้จริงหรือไม่? (5 คะแนน)

ระดับ 5: มีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน มีเครื่องมือวัดที่หลากหลายและเชื่อถือได้ มีการทวนสอบผลการประเมิน และมีการนำผลไปปรับปรุง

ระดับ 4: มีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน มีเครื่องมือวัดที่หลากหลาย และมีการทวนสอบผลการประเมิน

ระดับ 3: มีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนและมีเครื่องมือวัดที่เหมาะสม

ระดับ 2: มีเกณฑ์การประเมินแต่ขาดความชัดเจนในการวัดผล

ระดับ 1: ไม่มีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน

การสนับสนุนการบูรณาการข้ามศาสตร์ (10 คะแนน)

  1. มีรายวิชาหรือกิจกรรมที่แสดงการบูรณาการข้ามศาสตร์อย่างชัดเจนหรือไม่? (4 คะแนน)

ระดับ 4: มีรายวิชาและกิจกรรมบูรณาการข้ามศาสตร์ที่หลากหลาย มีการร่วมมือกับคณะ/สาขาอื่น และมีการประเมินประสิทธิผล

ระดับ 3: มีรายวิชาและกิจกรรมบูรณาการข้ามศาสตร์ที่ชัดเจน และมีการร่วมมือกับคณะ/สาขาอื่น

ระดับ 2: มีรายวิชาหรือกิจกรรมบูรณาการข้ามศาสตร์บางส่วน

ระดับ 1: มีการบูรณาการข้ามศาสตร์น้อยหรือไม่ชัดเจน

  1. โครงงานหรือกิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? (3 คะแนน)

ระดับ 3: มีการออกแบบโครงงานที่ส่งเสริมการทำงานข้ามสาขาอย่างมีประสิทธิภาพ มีกลไกสนับสนุนการทำงานร่วมกัน และมีการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

ระดับ 2: มีโครงงานที่ส่งเสริมการทำงานข้ามสาขา และมีกลไกสนับสนุนการทำงานร่วมกัน

ระดับ 1: มีโครงงานข้ามสาขาแต่ขาดกลไกสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ

  1. มีการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้จากการบูรณาการข้ามศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่? (3 คะแนน)

ระดับ 3: มีการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ชัดเจน มีเครื่องมือวัดที่เหมาะสม และมีการนำผลการประเมินไปปรับปรุง

ระดับ 2: มีการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้และมีการวัดผล แต่ขาดการนำผลไปใช้อย่างเป็นระบบ

ระดับ 1: การวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ไม่ชัดเจนหรือไม่เป็นระบบ

กระบวนการจัดการเรียนการสอน (35 คะแนน)

เทคนิคการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (15 คะแนน)

  1. อาจารย์ใช้วิธีการสอนที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้เชิงรุกอย่างไร และมีประสิทธิผลเพียงใด? (5 คะแนน)

ระดับ 5: มีการใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย กระตุ้นการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประเมินและพัฒนาวิธีการสอนอย่างต่อเนื่อง

ระดับ 4: มีการใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย กระตุ้นการมีส่วนร่วม และมีการประเมินประสิทธิผล

ระดับ 3: มีการใช้วิธีการสอนที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมในระดับที่น่าพอใจ

ระดับ 2: มีการใช้วิธีการสอนแบบมีส่วนร่วมบางส่วน

ระดับ 1: ยังคงเน้นการสอนแบบบรรยายเป็นหลัก

  1. กิจกรรมการเรียนการสอนมีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงอย่างไร และส่งเสริมการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด? (5 คะแนน)

ระดับ 5: กิจกรรมเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงอย่างชัดเจน มีความหลากหลาย ท้าทาย และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระดับ 4: กิจกรรมเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง มีความหลากหลาย และส่งเสริมการเรียนรู้

ระดับ 3: กิจกรรมเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงในระดับที่เหมาะสม

ระดับ 2: กิจกรรมเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงบางส่วน

ระดับ 1: กิจกรรมขาดการเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง

  1. มีการประเมินผู้เรียนจากการมีส่วนร่วมและการสร้างความรู้อย่างเป็นระบบหรือไม่? (5 คะแนน)

ระดับ 5: มีระบบการประเมินที่ครอบคลุมทั้งการมีส่วนร่วมและการสร้างความรู้ ใช้เครื่องมือประเมินที่หลากหลายและเชื่อถือได้ มีการให้ข้อมูลย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ และนำผลการประเมินไปพัฒนาการเรียนการสอน

ระดับ 4: มีระบบการประเมินที่ครอบคลุม ใช้เครื่องมือประเมินที่หลากหลาย และมีการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสม่ำเสมอ

ระดับ 3: มีการประเมินทั้งการมีส่วนร่วมและการสร้างความรู้ และมีการให้ข้อมูลย้อนกลับ

ระดับ 2: มีการประเมินการมีส่วนร่วมหรือการสร้างความรู้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง

ระดับ 1: การประเมินไม่เป็นระบบหรือขาดความชัดเจน

การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรู้ (10 คะแนน)

  1. การใช้ระบบจัดการเรียนรู้ดิจิทัลมีประสิทธิภาพหรือไม่? อย่างไร? (4 คะแนน)

ระดับ 4: มีการใช้ระบบจัดการเรียนรู้ดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ มีการผสมผสานเครื่องมือดิจิทัลที่หลากหลาย มีการติดตามและวิเคราะห์การเรียนรู้ของผู้เรียน และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง

ระดับ 3: มีการใช้ระบบจัดการเรียนรู้ดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการใช้เครื่องมือดิจิทัลที่หลากหลาย

ระดับ 2: มีการใช้ระบบจัดการเรียนรู้ดิจิทัลในระดับพื้นฐาน

ระดับ 1: มีการใช้ระบบจัดการเรียนรู้ดิจิทัลอย่างจำกัดหรือไม่มีประสิทธิภาพ

  1. ผู้เรียนมีโอกาสใช้เทคโนโลยีในการสร้างผลงานมากน้อยเพียงใด? (3 คะแนน)

ระดับ 3: ผู้เรียนมีโอกาสใช้เทคโนโลยีสร้างผลงานที่หลากหลาย มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียน

ระดับ 2: ผู้เรียนมีโอกาสใช้เทคโนโลยีสร้างผลงานในบางโอกาส

ระดับ 1: ผู้เรียนมีโอกาสใช้เทคโนโลยีสร้างผลงานอย่างจำกัด

  1. การใช้เทคโนโลยีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้อย่างไร? (3 คะแนน)

ระดับ 3: การใช้เทคโนโลยีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้อย่างชัดเจน มีการวางแผนการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ และมีการประเมินประสิทธิผล

ระดับ 2: การใช้เทคโนโลยีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้บางส่วน

ระดับ 1: การใช้เทคโนโลยีไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้หรือขาดการวางแผนที่ดี

สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (10 คะแนน)

  1. มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงหรือไม่? (4 คะแนน)

ระดับ 4: มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของผู้เรียนทุกกลุ่มอย่างเป็นระบบ มีกลไกสนับสนุนผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ มีการติดตามและส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และมีการประเมินและปรับปรุงการดำเนินงาน

ระดับ 3: มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม และมีกลไกสนับสนุนผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ

ระดับ 2: มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในระดับพื้นฐาน

ระดับ 1: การส่งเสริมการมีส่วนร่วมยังไม่ทั่วถึงหรือไม่เป็นระบบ

  1. บรรยากาศการเรียนรู้เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นและการทำงานร่วมกันหรือไม่? (3 คะแนน)

ระดับ 3: มีการสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการจัดพื้นที่และกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และมีการประเมินและพัฒนาบรรยากาศการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ระดับ 2: มีการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นและการทำงานร่วมกันในระดับพื้นฐาน

ระดับ 1: บรรยากาศการเรียนรู้ยังไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

  1. กิจกรรมกลุ่มที่หลากหลายมีประสิทธิผลในการส่งเสริมการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด? (3 คะแนน)

ระดับ 3: มีการจัดกิจกรรมกลุ่มที่หลากหลาย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ มีการประเมินประสิทธิผลของกิจกรรม และมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ระดับ 2: มีการจัดกิจกรรมกลุ่มที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับพื้นฐาน

ระดับ 1: กิจกรรมกลุ่มมีประสิทธิผลจำกัดหรือขาดความหลากหลาย

ผลลัพธ์ผู้เรียน (25 คะแนน)

ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (10 คะแนน)

  1. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? (4 คะแนน)

ระดับ 4: ผู้เรียนแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะการค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูล สามารถกำหนดเป้าหมายและวางแผนการเรียนรู้ของตนเอง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ระดับ 3: ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ดี และมีทักษะการค้นคว้าที่เหมาะสม

ระดับ 2: ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ในระดับพื้นฐาน

ระดับ 1: ผู้เรียนยังต้องพึ่งพาการชี้นำจากอาจารย์มาก

  1. ผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้ในบริบทใหม่ได้มากน้อยเพียงใด? (3 คะแนน)

ระดับ 3: ผู้เรียนแสดงความสามารถในการประยุกต์ความรู้ในสถานการณ์ที่หลากหลายและซับซ้อน สามารถวิเคราะห์และปรับใช้ความรู้ให้เหมาะสมกับบริบท และมีผลงานที่แสดงถึงการบูรณาการความรู้อย่างสร้างสรรค์

ระดับ 2: ผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้ในสถานการณ์พื้นฐานได้

ระดับ 1: ผู้เรียนมีข้อจำกัดในการประยุกต์ความรู้นอกบริบทการเรียนในห้องเรียน

  1. ผู้เรียนมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องหรือไม่? (3 คะแนน)

ระดับ 3: ผู้เรียนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งเป้าหมายและติดตามความก้าวหน้าของตนเอง และมีการแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ

ระดับ 2: ผู้เรียนมีการพัฒนาตนเองตามที่หลักสูตรกำหนด

ระดับ 1: ผู้เรียนขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (10 คะแนน)

  1. ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในระดับใด? (4 คะแนน)

ระดับ 4: ผู้เรียนแสดงทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในระดับสูง สามารถระบุปัญหาที่ซับซ้อน วิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบ เสนอแนวทางแก้ไขที่สร้างสรรค์ และประเมินผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระดับ 3: ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในระดับดี

ระดับ 2: ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้

ระดับ 1: ผู้เรียนมีข้อจำกัดในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา

  1. ผู้เรียนมีทักษะการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพหรือไม่? (3 คะแนน)

ระดับ 3: ผู้เรียนแสดงทักษะการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารในระดับสูง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความหลากหลาย มีภาวะผู้นำและผู้ตามที่เหมาะสม และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์

ระดับ 2: ผู้เรียนมีทักษะการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารในระดับพื้นฐาน

ระดับ 1: ผู้เรียนมีข้อจำกัดในการทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร

  1. ผู้เรียนมีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตหรือไม่? (3 คะแนน)

ระดับ 3: ผู้เรียนมีทักษะดิจิทัลที่ทันสมัยและครอบคลุม สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและมีจริยธรรม และสามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

ระดับ 2: ผู้เรียนมีทักษะดิจิทัลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงาน

ระดับ 1: ผู้เรียนมีทักษะดิจิทัลจำกัดหรือไม่เพียงพอต่อการทำงานในอนาคต

ความพร้อมในการทำงาน (5 คะแนน)

  1. ผู้เรียนมีความเข้าใจในสมรรถนะวิชาชีพที่จำเป็นมากน้อยเพียงใด? (2 คะแนน)

ระดับ 2: ผู้เรียนมีความเข้าใจชัดเจนในสมรรถนะวิชาชีพที่จำเป็น สามารถประเมินตนเองและวางแผนพัฒนาได้อย่างเหมาะสม และมีการติดตามแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ

ระดับ 1: ผู้เรียนมีความเข้าใจจำกัดเกี่ยวกับสมรรถนะวิชาชีพที่จำเป็น

  1. ผู้เรียนมีความมั่นใจในการเข้าสู่การทำงานหรือไม่? (2 คะแนน)

ระดับ 2: ผู้เรียนแสดงความมั่นใจในการเข้าสู่การทำงาน มีความเข้าใจในความต้องการของตลาดแรงงาน และมีการเตรียมความพร้อมในการสมัครงานหรือประกอบอาชีพอิสระ

ระดับ 1: ผู้เรียนขาดความมั่นใจหรือการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การทำงาน

  1. ประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริงส่งผลต่อความพร้อมในการทำงานอย่างไร? (1 คะแนน)

ระดับ 1: ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากการฝึกปฏิบัติ สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติ และพัฒนาทักษะวิชาชีพผ่านการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง

การสรุปผลการประเมินและการจัดระดับคุณภาพ

ระดับ C2: ยอดเยี่ยม (ร้อยละ 90-100) หลักสูตรแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศในการจัดการศึกษาตามกรอบ KKU Learning Paradigm มีการบูรณาการองค์ประกอบทั้ง 5 ประการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูง มีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่โดดเด่น และมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดี หลักสูตรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติ

ระดับ C1: ดีมาก (ร้อยละ 80-89) หลักสูตรมีการดำเนินงานที่มีคุณภาพสูงตามกรอบ KKU Learning Paradigm มีการบูรณาการองค์ประกอบครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ มีจุดเด่นในการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน และผู้เรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สูงกว่าเป้าหมาย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ระดับ B2: ดี (ร้อยละ 70-79) หลักสูตรมีการดำเนินงานที่มีคุณภาพตามกรอบ KKU Learning Paradigm มีการบูรณาการองค์ประกอบครบถ้วน มีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และผู้เรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ระดับ B1: พื้นฐานที่ดี (ร้อยละ 60-69) หลักสูตรมีการดำเนินงานตามกรอบ KKU Learning Paradigm ในระดับที่ยอมรับได้ มีการบูรณาการองค์ประกอบพื้นฐานครบถ้วน มีการจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐาน และผู้เรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับที่ยอมรับได้ มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน

ระดับ A2: เริ่มต้น (ร้อยละ 50-59) หลักสูตรมีการดำเนินงานตามกรอบ KKU Learning Paradigm ในระดับเริ่มต้น มีการบูรณาการองค์ประกอบบางส่วน การจัดการเรียนการสอนต้องการการพัฒนา และผลลัพธ์การเรียนรู้ต่ำกว่าเป้าหมาย จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงในหลายด้าน

ระดับ A1: พื้นฐาน (ต่ำกว่าร้อยละ 50) หลักสูตรมีการดำเนินงานที่ยังไม่สอดคล้องกับกรอบ KKU Learning Paradigm การบูรณาการองค์ประกอบยังไม่ชัดเจน การจัดการเรียนการสอนต้องการการปรับปรุงอย่างมาก และผลลัพธ์การเรียนรู้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

ผลการประเมินหลักสูตรตามกรอบ KKU Learning Paradigm ควรนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางดังนี้

การวิเคราะห์ผลการประเมิน

หลักสูตรควรดำเนินการวิเคราะห์ผลการประเมินอย่างรอบด้าน โดยพิจารณาทั้งคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบ เพื่อระบุจุดแข็งและประเด็นที่ต้องพัฒนา การวิเคราะห์ควรครอบคลุมปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา ทั้งด้านการออกแบบหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน และผลลัพธ์ผู้เรียน

การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ

หลักสูตรต้องนำผลการวิเคราะห์มาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพที่เป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป้าหมาย กิจกรรมพัฒนา ระยะเวลาดำเนินการ ผู้รับผิดชอบ และทรัพยากรที่ต้องการอย่างชัดเจน แผนพัฒนาควรมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพในประเด็นที่มีผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในประเด็นที่เป็นจุดแข็งของหลักสูตร

การดำเนินการพัฒนาและติดตามผล

การพัฒนาหลักสูตรควรดำเนินการอย่างเป็นระบบตามแผนที่กำหนด มีการติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ และมีการปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การพัฒนาควรเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และการสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในการจัดการศึกษา

แนวทางการใช้เกณฑ์การประเมินสำหรับอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

 

การเตรียมการประเมิน

  • การประเมินหลักสูตรตามกรอบ KKU Learning Paradigm ต้องมีการเตรียมการอย่างรอบคอบ เริ่มจากการทำความเข้าใจองค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินอย่างถ่องแท้ การรวบรวมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และการวางแผนการประเมินอย่างเป็นระบบ
  • การเตรียมการที่ดีจะช่วยให้การประเมินมีประสิทธิภาพและได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตร โดยควรมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่รับผิดชอบการประเมิน กำหนดปฏิทินการดำเนินงาน และจัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

 

ขั้นตอนการดำเนินการประเมิน

การประเมินหลักสูตรควรดำเนินการอย่างเป็นระบบตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • การศึกษาเอกสารหลักสูตรและการเก็บรวบรวมข้อมูล ควรเริ่มจากการวิเคราะห์เอกสารหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของหลักสูตร เช่น มคอ.2 รายละเอียดของหลักสูตร มคอ.3-4 รายละเอียดของรายวิชา และ มคอ.5-6 รายงานผลการดำเนินการของรายวิชา รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่แสดงถึงการดำเนินงานของหลักสูตร นอกจากนี้ควรรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์จากการสังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอน การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง และการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • การวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงาน เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการประเมินควรร่วมกันวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์และให้คะแนนอย่างเป็นธรรม การประเมินควรมีการอภิปรายและหาข้อสรุปร่วมกันในกรณีที่มีความเห็นแตกต่าง เพื่อให้ผลการประเมินมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ
  • การจัดทำรายงานการประเมิน คณะกรรมการประเมินควรจัดทำรายงานที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยนำเสนอทั้งผลการประเมินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รายงานควรระบุจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา และข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงอย่างชัดเจน การเขียนรายงานควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและมีการอ้างอิงหลักฐานประกอบการประเมินอย่างเหมาะสม

 

การนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาหลักสูตร

  • ผลการประเมินหลักสูตรควรถูกนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับผลการประเมินและแนวทางการพัฒนา จากนั้นจึงดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพที่ระบุเป้าหมาย กิจกรรม ระยะเวลา และผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน
  • การดำเนินการตามแผนพัฒนาควรมีการติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ และมีการรายงานผลต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและผู้เกี่ยวข้อง หากพบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน ควรมีการปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยยังคงมุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้